ตำนานพลอยเมืองจันท์

เรื่องเล่าจากปากผู้เฒ่าหลายต่อหลายคน เล่าตรงกันถึงครอบครัวชาวนา ผู้บุกเบิกที่ดินในอำเภอหนองบอน นาวง อันเป็นแหล่งการค้นพบ พลอยแดงแห่งแรกๆ ของประเทศไทย จากนั้นเป็นต้นมา พลอยแดง หรือ ทับทิมสยาม ก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยคุณภาพที่โดดเด่น ทั้งสีที่แดงสดใส ประกายของน้ำงามภายหลังผ่านการเจียรนัย และราคาที่เปลี่ยนแปลงขึ้นทุกครั้งที่ถูกเปลี่ยนมือไป ไม่มีใครรู้คุณค่าที่แท้จริงของพลอยแต่ละเม็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีขนาดใหญ่หลายๆ กะรัต รู้แต่เพียงว่า แม้จะผ่านไปหลายต่อ หลายทอดก็ยังได้ข่าวว่า คนสุดท้ายที่ขายออกไปสามารถทำกำไรได้งดงาม บางครั้งยังมากกว่าผู้ที่ขุดหาได้คนแรกเสียอีก และนับวันมีแต่จะเพิ่มมูลค่าขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะกลายเป็นของหายากยิ่งในปัจจุบัน
 
เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆกันมาว่า จุดที่เกิดพลอยจันท์ แห่งแรกๆนั้น อยู่บริเวณเขาพลอยแหวน ซึ่งเป็นชื่อเรียกกันมานานนมตั้งแต่ครั้งโบร่ำโบราณ สมัยก่อนการหา พลอยไม่ได้ใช้เครื่องมือหนัก ไม่ต้องเปลืองน้ำมัน เพราะบริเวณเขาพลอยแหวนนั้น พลอยดกมาก แค่เขี่ยๆ ตามพื้นดินก็พบพลอยแล้ว พลอยที่พบจะเป็นพลอยเขียวส่อง บุษราคัม พลอยสตาร์และไพลิน ซึ่งคนพื้นบ้านเรียก ลูกครึ่ง
ชาวบ้านจะสนุกสนานในการหาพลอยก็ต่อเมื่อหลังฝนตกหนัก เพราะหลังฝนใหญ่ หน้าดินจะถูกน้ำชะไป พลอยและก้อนกรวดจะปรากฏที่หน้าดิน ชาวบ้าน ซึ่งชำนาญจะแยกออกว่าเม็ดไหนกรวด เม็ดไหนพลอย ดังบทกลอนที่มีผู้แต่งเกี่ยวกับพลอยเมืองจันท์ไว้ว่า
 
"พอฝนมา ชะหน้าดิน หินก็โผล่
ก้อนโตๆ สีเหลืองทอง ส่องแสงใส
บ้างเขียวสด เขียวจาง บ้างเขียวไพล
ก้อนเท่าไข่ ใหญ่เท่าหอย ไม่น้อยเลย"
 
พลอยในสมัยก่อนเม็ดโตมีเยอะ บางเม็ดใหญ่ขนาดกลักไม้ขีดไม่ว่าบุษราคัมน้ำงาม หรือไพลิน แต่มีใครกี่คนที่ทราบว่า มีการพบพลอยจันท์ มานานเท่าไหร่แล้ว ถ้าถามชาวบ้านในพื้นที่ คนเก่าแก่ก็อาจตอบว่าพบเห็นมาตั้งแต่จำความได้ เขาพลอยแหวน บางกะจะ บ่อไร่ หนองบอน นาวง ตกพรม บ่อเวฬุ อีเล็ม ฯลฯ เหล่านี้คือ แหล่งที่มีการค้นพบพลอยคุณภาพแห่งภาคตะวันออกของไทย จนทำให้จันทบุรีกลายเป็นที่นัดพบของพ่อค้าพลอยชาวไทยเรื่อยมา
 
หลังจากยุคตื่นพลอยที่บ่อไร่ หนองบอน นาวง และชื่อทับทิมสยามเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติโดยทั่วไป จึงเริ่มมีนักธุรกิจจากทั่วโลกเข้ามาติดต่อซื้อขายพลอย ที่จันทบุรีมากขึ้นโดยลำดับ
การเจียรนัยพลอยนั้น ก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่อยู่คู่กับคนจันทบุรีมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีความสวยงามและแตกต่างกับอีกหลายๆ ประเทศที่มีอุตสาหกรรมพลอย และก็มีอีกชาวต่างชาติอีกไม่น้อยที่พยายามจะมีศึกษาวิธีการ ตลอดจนแนวคิดทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ของอัญมณีต่างๆ จากบ้านเรา แต่ก็ไม่สามารถลอกเลียนได้ ดูได้จากงานฝีมือการเจียระไนพลอย 81 กะรัต ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 81 พรรษา ซึ่งเป็นฝีมือการเจียรนัยด้วยมือ จากช่างชาวจันทบุรี ซึ่งไม่มีที่ไหนทำได้
 
ส่วนเรื่องการเผาพลอยของจันทบุรีนั้น คาดกันว่าน่าจะมาจากเรื่องบังเอิญ เมื่อในอดีตเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดพลอย และมีตู้เซฟซึ่งใช้เก็บพลอยจำนวนไม่น้อยถูกเผา แต่กลับเกิดเรื่องไม่น่าเชื่อขึ้นมา เพราะว่าหลังจากพลอยในตู้เซฟที่ถูกความร้อน มันกลับเกิดสีสันที่สวยงามกว่าพลอยปกติทั่วไป ตั้งแต่นั้นมาการเผาพลอยจึงเกิดขึ้นและเป็นที่นิยมจึงถึงปัจจุบัน จากการเผาด้วยเตาอิฐ จนปัจจุบันเป็นการเผาด้วยเตาที่ทันสมัย และเริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นหลังจากมีการส่งเสริมวิจัยการผลิตพลอยอย่างจริงจัง พลอยที่เห็นตามท้องตลาดของจันทบุรี จึงมีความสวยงามต่างจากพลอยที่อื่นๆ ทั่วไป
 
แม้ว่าวันนี้ของจันทบุรี ทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมากตามเวลาที่ล่วงเลย ใต้ดินทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบร่อยหลอลงไป จนกลายเป็นไม่หลงเหลืออยู่ แต่บนดินนั้นได้มีการสั่งสมความรู้ประสบการณ์ และเพิ่มพูนขึ้นเป็นอย่างมากจนยากที่ใครจะตามทัน วันนี้ของจันทบุรี ได้อาศัยประสบการณ์ที่สั่งสม แสวงหาวัตถุดิบจากทุกมุมโลก พลอยก้อน จากทุกแหล่งของโลก ถ่ายเทมาที่นี่จนกลายเป็นแหล่งซื้อ-ขายอัญมณีที่สำคัญและมีเชื่อเสียงในระดับโลก

บทความอื่นๆ