รู้เท่าทันปัญหาโรคไต ก่อนจะสายเกินแก้

ไม่น่าเชื่อเลยว่า นอกจากโรคเบาหวานและโรคอ้วนที่มากับเทรนด์การติดเครื่องดื่มหวานๆ อย่างชานมไข่มุกของคนในปัจจุบันแล้ว “โรคไต” ก็เป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรัง ที่หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงคือการกินอาหารหรือเครื่องดื่มหวานๆ ได้เหมือนกัน ทั้งนี้ โรคไตยังนับเป็นโรคที่มีอัตราผู้ป่วยสูงขึ้นจนกลายเป็นโรคอันดับต้นๆ ของคนไทยเลยทีเดียว ทั้งด้วยปัจจัยที่กล่าวมารวมกับว่าโรคไตนั้นไม่ได้เกิดจากแค่พฤติกรรมการกินเค็มเท่านั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายสุขภาพไตด้วยการกินอาหารบางอย่างเป็นประจำ แต่จะมีอะไรบ้าง

เมื่อพูดถึงอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพไต หลายคนก็มักจะโฟกัสไปที่อาหารรสชาติเค็มจัดที่ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำปลา แต่จริงๆ แล้ว อาหารที่มีโซเดียมสูงนั้นอาจไม่ได้มาพร้อมกับรสชาติเค็ม แต่แฝงอยู่ในอาหารหลากหลายรูปแบบและหลากหลายรสชาติ ไม่ว่าจะเป็น...

  • เครื่องปรุงรส ที่นอกจากเกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊วแล้ว ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ ก็มีโซเดียมสูงไม่แพ้กัน
  • อาหารแปรรูปยอดนิยม อย่าง แฮม เบคอน ขนมกรุบกรอบ ผลไม้กระป๋อง รวมถึงอาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดอง หรือไข่เค็ม
  • สารปรุงแต่งอาหาร ที่แม้ว่าจะไม่ได้มีรสชาติเค็ม แต่ก็ทำร้ายไต เช่น ผงฟู สารกันบูด หรือสารกันเชื้อราในขนมปัง
  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

โดยปกติหน้าที่ของไตคือช่วยปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกิน...จนไตไม่สามารถขับออกได้ทัน ก็จะเกิดโซเดียมสะสมในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายเก็บรักษาน้ำมากขึ้น น้ำในหลอดเลือดจึงเพิ่มขึ้น ไตจึงต้องทำงานหนักเพื่อจะพยายามขับโซเดียมและน้ำส่วนเกินออก สิ่งที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดความดันสูงขึ้นในหน่วยไต และเมื่อระดับความดันสูงขึ้น ก็จะก่อให้เกิดแรงดันในกลุ่มหลอดเลือดฝอยที่อยู่ในเนื้อไต เมื่อแรงดันสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ นำไปสู่ภาวะไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น

ความดันสูงระดับวิกฤตอาจเสี่ยงไตวายเฉียบพลันได้

หากระดับความดันในเลือดที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือค่าความดันตัวบนสูงมากกว่า 200 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และตัวล่างสูงมากกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท ไตจะสูญเสียกลไกในการป้องกันแรงดันเลือดสูง และเกิด “ภาวะไตวายเฉียบพลัน” ได้! ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคความดันในเลือดสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในแต่ละวันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

แม้ว่าการกินเค็มหรือกินอาหารที่มีโซเดียมสูงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคไต แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็น “โรคไต” ได้เหมือนกัน เช่น

  • การทานอาหารรสจัด นอกจากอาหารเค็มจัดแล้ว การทานอาหารรสหวานจัดก็ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไตทำงานหนักได้เหมือนกัน
  • ขาดการออกกำลังกาย เพราะการไม่ออกกำลังกายนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้ไตทำงานหนัก จนเกิดปัญหาไตเสื่อมเร็วได้
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป เพราะไตมีหน้าที่ในการฟอกของเสียในร่างกาย ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นตัวนำพาไปสู่กลไกการกรองของไตจนกลายมาเป็นปัสสาวะ หากดื่มน้ำน้อยเกินไป ไตอาจขับของเสียได้ไม่หมด เกิดของเสียคั่ง สะสมไปนานๆ จนตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว หรือโรคนิ่วในไตได้นั่นเอง
  • ทำงานหนัก เครียดมาก เพราะเมื่อทำงานหนัก ร่างกายไม่ได้รับการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ รวมไปถึงความเครียดที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของออกซิเจนที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ “ไต” ที่ต้องทำงานหนัก... ไม่ได้รับการฟื้นฟูเพียงพอ ไตจึงเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น

สังเกตตัวเองให้เป็นตรวจเช็กสุขภาพไต

  1. ขาและเท้าทั้งสองข้างบวม
  2. ตาบวม โดยเฉพาะในตอนเช้า
  3. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อ่อนแรง
  4. ปวดหลัง ปวดบั้นเอวบริเวณชายโครง อาจร้าวไปถึงท้องน้อย
  5. ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะเป็นฟองสีขาวๆ หรือปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน

“ไต” เป็นอวัยวะที่ต้องทำงานตลอดเวลาโดยไม่มีวันหยุด เราจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพไตด้วยการลดเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง พร้อมตรวจสุขภาพไตเพื่อเช็กการทำงานว่ายังปกติอยู่หรือไม่ เพราะหากปล่อยปละละเลยจนไตเสื่อมคุณอาจจะเหลือเวลาให้ฟื้นฟูสภาพไตได้อีกเลย

บทความอื่นๆ