รู้ทัน ป้องกั ฝีดาษลิง (Monkeypox)

ฝีดาษลิง (Monkeypox) คืออะไร
 
 
โรคไข้ฝีดาษลิง หรือ ไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง”
 
โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิต 1-10% ทั้งนี้การเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ
 
สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10%
สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1%
(อ้างอิงจาก: CDC, 2021)
 
“ฝีดาษลิง” แตกต่างจาก “ไข้ฝีดาษ-ไข้ทรพิษ” อย่างไร
 
 
โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox) จัดเป็นกลุ่มโรคไข้ออกผื่น กินระยะเวลานาน 2-4 สัปดาห์ เช่นเดียวกับไข้ฝีดาษลิง แม้ว่าจะเป็นไวรัส Othopoxvirusกลุ่มเดียวกัน แต่จัดเป็นคนละชนิดกัน โดยลักษณะการติดต่อและความรุนแรงของโรคพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
 
เชื้อไวรัสของโรคไข้ทรพิษจะอยู่ในคนเป็นหลัก โดยจะมีการติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น โดยติดต่อผ่านการหายใจ สามารถติดต่อกันง่ายมาก โดยผ่านละอองฝอยเล็กๆ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้อย่างเป็นวงกว้าง โดยพบว่า ผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% แตกต่างจากไข้ฝีดาษลิง ที่ติดต่อกันผ่านการสัมผัส (Contact)
 
มีหลักฐานยืนยันว่า โรคไข้ทรพิษเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดมาอย่างยาวนานมากกว่า 1,000 ปี แต่ปัจจุบันนี้ไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษแล้ว เนื่องมาจากการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ โดยประเทศไทยได้ยุติการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการเก็บตัวอย่างเชื้อไข้ทรพิษ ไว้สำหรับเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
 
 
โรคฝีดาษลิง โรคระบาดใหม่ ที่ไม่ควรมองข้าม
 
สถานการณ์โรคไข้ฝีดาษลิง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 500 ราย ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 เป็นผู้ชาย ซึ่งมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมา โดยติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์
 
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า เราพบการแพร่ระบาดของโลกฝีดาษลิงในทวีปแอฟริกาเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีแพรี่ด็อก (Prairie Dog) สัตว์นำเข้าจากประเทศคองโกเป็นพาหะในการแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง และโรคได้สงบไปจากการแพร่ระบาดในครั้งนั้น และไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาอีก
 
สิ่งที่ต้องจับตามองอีกครั้ง! มีการพบผู้ติดเชื้อโรคไข้ฝีดาษลิงขึ้นอีกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2022 เป็นรายแรก และพบผู้ติดเชื้อแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกถึง 76 ประเทศ (CDC, Jul 2022)
 
อาการโรคฝีดาษลิง เป็นอย่างไร
 
ระยะเวลาฟักตัวของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 7-14 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการแสดงต่างๆ ดังนี้
 
  • มีไข้ ไข้สูง
  • ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ปวดกระบอกตา
  • ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย
  • อาการต่อมน้ำเหลืองโต ถือเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ของโรคไข้ฝีดาษลิง สามารถเกิดขึ้นได้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะจุดที่ไปสัมผัสโรคตามผิวหนัง เช่น คอ ไหปลาร้า ข้อศอก รักแร้ เป็นต้น หรือผ่านทางเยื่อบุทางเดินหายใจ จากการพูดคุย สัมผัสใกล้ชิด การจูบ ได้เช่นกัน ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้จะเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคไข้สุกใส (Chickenpox) ที่เป็นไข้ออกผื่นลักษณะเดียวกัน
  • มีผื่น ตุ่มหนองหลังจากที่มีไข้มาประมาณ 3 วัน จะเข้าสู่ช่วงระยะออกผื่น โดยลักษณะผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินเวลานานประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัวโดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจาก จุดแดงๆ กลมๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และ กลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่เชื้อ ผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้หลังจากผื่นตกสะเก็ดจะทำเกิดรอยโรคหรือรอยแผลเป็นได้
 
วิธีป้องกัน “โรคฝีดาษลิง”
 
  • ออกห่างจากผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
  • ไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง ของผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อที่มีโปรตีนหุ้ม ซึ่งสามารถถูกทำลายได้ด้วยแอลกอฮอล์ ดังนั้น เราจึงควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
  • สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่

 

ข้อมูลจาก:https://www.sikarin.com/doctor-articles/monkeypox

บทความอื่นๆ