ไขข้อเท็จจริง ด่างทับทิม สามารถกินได้หรือไม่

จากกรณีมีคลิปทาง TikTok ช่องหนึ่งที่มักจะให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ลงคลิปหัวข้อ "กินด่างทับทิมเป็นอันตรายไหม" พร้อมอธิบายบางช่วงว่า "มันอยู่ที่ปริมาณ ดื่มเป็นขวด ๆ ไม่ได้ แต่กินน้ำด่าง หรือ น้ำยาอุทัยสมัยก่อนได้ ที่ตอนโรงเรียนสมัยก่อน เขาจะใส่ด่างทับทิมลงไปผสมน้ำเป็นสีชมพูนิด ๆ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะร่างกายคนเรามันมีค่าพีเอช ค่ากรด-เบส เซลล์มะเร็งชอบความเป็นกรด ถ้ากินน้ำตาลเยอะ ๆ เลือดจะเป็นกรด มะเร็งจะเติบโต เขาจึงให้กินน้ำด่าง ใช้เครื่องทำน้ำด่าง ให้เลือดลดความเป็นกรด ให้พีเอชสูงขึ้น"
 
 
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์อธิบายเกี่ยวกับข้อมูลในคลิปดังกล่าวว่า "ด่างทับทิม กินไม่ได้ เป็นอันตรายครับ (และน้ำยาอุทัย ไม่ได้ทำจากด่างทับทิมด้วย)"
 
อ.เจษฎา ระบุว่า คลิปป๋าให้ความรู้แบบผิด ๆ คลิปที่เท่าไหร่แล้วเนี่ย คราวนี้มากับคำถามที่ว่า "กินด่างทับทิม อันตรายไหม ?" พร้อมอธิบายว่า น้ำยาอุทัยทิพย์ ที่เอามาผสมน้ำดื่ม ไม่ได้ทำจากด่างทับทิม แต่เป็นยาแผนโบราณ ที่มีส่วนประกอบเป็นสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งมีสรรพคุณไปทางด้านการลดอาการร้อนใน โดยมี "ฝาง" เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำยาอุทัย และทำให้น้ำยาอุทัยเป็นสีแดง
 
ฝางช่วยบำรุงโลหิต ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ นอกจากนั้นก็มี ดอกพิกุล, ดอกมะลิ, หญ้าฝรั่น, ดอกสารภี, ดอกบุนนาค, ดอกคำฝอย, ดอกเก็กฮวย, เกสรบัวหลวง, อบเชย, กฤษณา, จันทน์แดง, โกศหัวบัว, โกศเขมา, โกศสอ, โกศเชียง .... ไม่ปรากฏว่ามีการใส่ "ด่างทับทิม" เข้าไปแต่ประการใด
 
เฉลยแล้ว! อุทัยทิพย์ ทำมาจากอะไร เอามาทาปากทาแก้มแล้วอันตรายมั้ย
 
ส่วนด่างทับทิม หรือ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate – สูตรทางเคมี : KMnO4) เป็นสารเคมีประเภทอนินทรีย์ มีลักษณะเป็นผลึกหรือเกล็ดสีม่วง สามารถละลายน้ำได้ดี ได้สารละลายสีม่วงหรือสีชมพูอมม่วง มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน ๆ จริง และเอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างจริง แต่ก็มีอันตราย เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นสารออกซิเดชัน (oxidation) อย่างรุนแรง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่นำมาบริโภค รับประทาน
 
  • ห้ามดื่ม ชิม จิบ หรือกิน ด่างทับทิม ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆ เพราะอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแพ้ได้
  • หากด่างทับทิมเข้าปาก ต้องรีบบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และห้ามทำให้อาเจียนเด็ดขาด
  • ถ้าน้ำด่างทับทิมกระเด็นเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุตา ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง
  • แม้แต่ด่างทับทิมที่ละลายน้ำแล้ว แต่ในปริมาณมาก จนเข้มข้นมากเกินไป ก็อาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ จึงไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนังโดยเด็ดขาด เพราะอาจระคายเคืองกับเนื้อเยื่อ และทำลายเซลล์ผิวหนัง จนมีอาการแสบ คัน เกิดรอยด่าง หรือผิวแห้งเป็นขุยได้

 

ส่วนประโยชน์ของด่างทับทิม ที่นิยมนำมาใช้ในครัวเรือนได้ คือเอามาทำเป็นยาฆ่าเชื้อโรค เชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ในผักผลไม้ โดยนำมาผสมกับน้ำเพียงเล็กน้อย (ใช้ประมาณ 4-5 เกล็ด ผสมกับน้ำประมาณ 4-5 ลิตร) แล้วแช่ผักผลไม้ แต่ต้องล้างออกให้สะอาด ไม่นำน้ำนั้นไปใช้ในการดื่มกิน
 
ดังนั้น สรุปอีกทีว่า อย่าเอาด่างทับทิมไปละลายน้ำเพื่อดื่มกิน ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำยาอุทัยทิพย์ อันตรายต่อร่างกาย
 
ป.ล. แถมด้วยว่า เรื่องการกินน้ำด่าง อาหารด่าง ให้เลือดของเรากลายเป็นด่างเนี่ย ก็เป็นความเชื่อผิด ๆ ตาม ๆ กันมานานแล้ว ความจริงแล้ว ค่าพีเอช กรดด่าง ของเลือดคนเรา ค่อนข้างคงที่ เป็นด่างอ่อน ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว และจะถูกควบคุมด้วยระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ผ่านการหายใจเข้าออก ไม่ใช่จากการกินอาหารดื่มน้ำ แล้วไปเปลี่ยนค่าพีเอชครับ พวกผลไม้ต่าง ๆ ก็มีค่าพีเอช เป็นกรดอ่อน ด้วยครับ ไม่ใช่เป็นด่าง อย่างที่กลุ่มคนกินอาหารด่างเชื่อกัน

บทความอื่นๆ