ทำความรู้จักแคดเมียม คืออะไร จากกรณีพบกากแคดเมียมที่สมุทรสาคร

จากรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ที่ได้ขายกากแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียมฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวนกว่าหมื่นตัน โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ทำให้พบกากแคดเมียม และกากสังกะสี รวมถึงกากอะลูมิเนียมในถุงบิ๊กแบ็กสีขาวจำนวนมาก
 
 
 
ต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาคร ตรวจคัดกรองสุขภาพของพนักงานในโรงงานจำนวน 11 ราย แบ่งเป็น คนไทย 8 ราย และต่างด้าว 3 ราย โดยซักประวัติตามแบบฟอร์มการสัมผัสสารโลหะหนักแคดเมียม ตรวจสัญญาณชีพเบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (สธ. เร่งตรวจสุขภาพคนงาน-ชุมชน หลังพบ "กากแคดเมียม" ในโรงงานสมุทรสาคร)
 
อย่างไรก็ตาม หลายคนคงจะสงสัยว่า แคดเมียม คืออะไร แล้วมีอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ทำไมการตรวจพบกากแคดเมียมที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครครั้งนี้ ถึงเป็นเรื่องน่ากังวล เราจึงได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ให้แล้ว
 
แคดเมียม คืออะไร
 
แคดเมียม (Cadmium) มีสูตรทางเคมีคือ Cd เป็นโลหะสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีลักษณะเนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอได้และถูกตัดได้ง่ายด้วยมีด มักอยู่ในรูปแท่ง แผ่น เส้น ลวด หรือเป็นผงเม็ดเล็กๆ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง โดยทั่วไปนำไปใช้ในการชุบโลหะ นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท รวมถึงยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้อีกด้วย
 
แคดเมียมเกิดจากอะไร และพบได้ที่ไหน
 
แคดเมียมจะพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ดังนั้นในการทำเหมืองสังกะสี จะได้ แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย ซึ่งแคดเมียมก็จะพบได้ในอาหาร ในน้ำ ในเหมือง และในส่วนน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย หรือในสีที่ผสมที่ใช้กับบ้านหรืออาคารได้อีกด้วย
 
แคดเมียม ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง
 
แคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ
 
โดยขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามาก ใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ รวมถึงโรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease) อีกด้วย
 
อันตรายของแคดเมียมต่อร่างกาย
 
ผลเฉพาะที่
 
ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ถ้าสัมผัสนานๆ อาจทำให้ความรู้สึกในการรับกลิ่นเสียไป และเกิดคราบ หรือวงสีเหลืองที่คอฟันทีละน้อย หลังจากที่แคดเมียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีครึ่งชีวิตที่ยาวนาน และคงอยู่ในตับและไต
 
ผลต่อร่างกาย
 
พิษเฉียบพลันส่วนใหญ่ เกิดจากการหายใจเอาฝุ่น หรือฟูมแคดเมียม ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อแคดเมียมถูกทำให้ร้อน โดยทั่วไป ระยะเวลาหลังจากสัมผัสสารจะยาวนาน 2-3 ชั่วโมงก่อนแสดงอาการ อาการเริ่มแรกจะมีการระคายเคืองเล็กน้อยของทางเดินหายใจส่วนต้น อีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการไอ เจ็บปวดใน ทรวงอก เหงื่อออกและหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการที่ คล้ายกับการติดเชื้อทั่วไปของทางเดินหายใจส่วนต้น
 
ต่อมา 8-24 ชั่วโมง หลังจากสัมผัสสารอย่างฉับพลัน อาจเห็นอาการระคายเคืองอย่างแรงที่ปอด เจ็บปวดในทรวงอก หายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย อาการหายใจลำบากจะรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมปอดตามมา อันตรายจากกรณีเช่นนี้ มีถึง 15% ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และเนื้อปอดปูดนูนออกมา ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษาให้หาย มีรายงานว่า พบพิษเรื้อรังเกิดขึ้น หลังจากสัมผัสฟูมแคดเมียมออกไซด์เป็นเวลานาน
 
การรักษาเบื้องต้น
 
หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการบริโภคอาหาร ให้ดื่มนมหรือบริโภคไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet's Phospho Soda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม
 
ขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเทคนิคการแพทย์, กรุงเทพ พยาธิ-แลป, สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
 
ที่มา : https://www.thairath.co.th

บทความอื่นๆ