ตลาดกระทิง (Bull Market) คำศัพท์ใหม่ที่นักลงทุนต้องรู้จัก

คำว่า Bull Market หรือ Bull Run เป็นคำที่ถูกพูดถึงค่อนข้างบ่อยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองและราคาหุ้นหรือสินทรัพย์เพื่อการลงทุนพุ่งสูงขึ้น แต่ภาวะกระทิงคืออะไรกันแน่และตลาดช่วงไหนที่นิยามคำนี้ ในบทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักตลาดกระทิง สัญญาณที่บ่งชี้ว่านี่คือตลาดกระทิงและปัจจัยที่จะก่อให้เกิดตลาดเช่นนี้
 
 
 
 
ตลาดกระทิง (Bull Market) คืออะไร?
 
ตลาดกระทิง คือ ภาวะตลาดที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นแบบยาวนานต่อเนื่อง (Higher High) เมื่อตลาดอยู่ในช่วงกระทิงนักลงทุนมักจะมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตของเหรียญที่พวกเขาถืออยู่และมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้เกิดการตัดสินในลงทุนมากขึ้นโดยหวังว่าจะทำกำไรได้แม้ว่าราคาเหรียญจะสูงขึ้นก็ตาม ส่งผลให้ราคาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก ยิ่งตลาดกระทิงดำเนินต่อไปนานเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเท่านั้น
 
สัญญาณที่อาจชี้ว่าตลาดกระทิง (Bull Market) มาถึงแล้ว
 
 
ตลาดกระทิงโดยทั่วไปจะกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ในช่วงเวลานี้ นักลงทุนมีความมั่นใจในประสิทธิภาพของตลาด ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับหลักทรัพย์ เช่น หุ้น พันธบัตร สินทรัพย์ดิจิทัลและสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นผลให้ราคาของสินทรัพย์เหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น สร้างกระแสตอบรับเชิงบวกที่ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากขึ้น
 
 
4 สัญญาณที่อาจชี้ว่าตลาดกระทิงมาแล้ว
 
 
1. เมื่อราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น
เป็นลักษณะที่ชัดเจนที่สุดของภาวะตลาดกระทิงคือการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบ Higher High เป็นกราฟแนวโน้มขาขึ้น หรือสามารถดูได้จาก Moving Average หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนไหว ซึ่งเป็น Indicators พื้นฐานที่เหล่านักลงทุนใช้ประกอบการวิเคราะห์ โดยกรอบเวลาของ MA สามารถถูกกำหนดเพื่อวิเคราะห์ทิศทางได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หาก MA 50 ระยะสั้น (เส้นสีเหลือง) เคลื่อนไหวตัดกับ MA 100 ระยะยาว (เส้นสีฟ้า) โดยที่ระยะสั้นอยู่สูงกว่าระยะยาวจะเป็นสัญญาณขาขึ้นหรือเรียกว่า Bullish Crossover ในทางกลับกัน หากเส้นระยะสั้นตัดกับระยะยาว โดยระยะสั้นอยู่ต่ำกว่าระยะยาวจะสะท้อนถึงทิศทางขาลงหรือ Bearish Crossover
 
 
2. เมื่อเกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนสูง
ตลาดกระทิงเป็นสัญลักษณ์ของการมองโลกในแง่ดีของนักลงทุนในระดับสูงและเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ต้องระวังหากนักลงทุนเชื่อว่าทิศทางขาขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ความมั่นใจมีมากขึ้นก็อาจกระตุ้นให้นักลงทุนแบกรับความเสี่ยงเพิ่มเพราะจะมีการลงทุนที่จริงจังมากขึ้น
 
3. เมื่อมีผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
ตลาดกระทิงมักจะได้รับผลมาจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำ การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของ GDP (Gross Domestic Product) ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศที่ดี เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน
 
4. เมื่อมีกิจกรรมการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อราคาเพิ่มขึ้น กิจกรรมการซื้อขายมักจะเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นในตลาดการเงิน นักลงทุนจำนวนมากขึ้นเข้าร่วมอย่างแข็งขัน แสวงหาประโยชน์จาก Momentum ขาขึ้นนี้ ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้ความอดทนของนักลงทุนเป็นอย่างสูงที่ต้องเกิดความชั่งใจ ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะไหลไปตามแรงซื้อขายนั้น
 
 
 
3 ปัจจัยหลักที่อาจมีผลต่อการวิ่งของกระทิง
 
1. นโยบายของรัฐบาล
นโยบายของรัฐบาลที่เอื้ออำนวย เช่น การลดภาษี กฎระเบียบที่ลดลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและนำไปสู่ตลาดกระทิงได้ มาตรการเหล่านี้สามารถเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภค การลงทุน และความเชื่อมั่นของตลาดโดยรวมด้วย
 
2. นวัตกรรมทางเทคโนโลยี
การเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่และความก้าวหน้าของนวัตกรรมมีส่วนกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเปิดโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ สังเกตได้ว่าบริษัทระดับแนวหน้าด้านนวัตกรรมมักจะทำผลงานได้ดีในช่วงตลาดขาขึ้น อย่างเช่นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ Facebook เข้าสู่ยุค Meta ทำให้มนุษย์โลกรู้จักนวัตกรรมที่้เรียกว่า Metaverse และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย แต่หากเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นไม่สามารถไปต่อได้ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ความเชื่อมั่นก็จะลดน้อยถอยลงได้เช่นกัน
 
3. สภาวะเศรษฐกิจโลก
ตลาดกระทิงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเทศเดียว แต่สามารถได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงบวกในระดับโลก การปรับปรุงการค้าโลกและความร่วมมือจากหลายประเทศก็สามารถกระตุ้นตลาดให้วิ่งขึ้นได้พร้อมกัน ในทางกลับกันหากเป็นช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ผ่านมา การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ฯลฯ ก็สามารถส่งผลความเชื่อมั่นต่อการลงทุนต่ำลง 

บทความอื่นๆ