เลือกรสชาติอาหารที่ใช่ ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

เมื่อพูดถึงอาหารไทยแล้ว รสชาติที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและนึกถึงคือ รสหวานและเค็ม ซึ่งหากกินมากไป จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีรสชาติที่มักถูกมองข้าม ได้แก่ “เปรี้ยว เผ็ด ฝาด ขม” นั่นเอง
 
 
1. เปรี้ยว อาหารที่มีรสชาติเปรี้ยว เช่น มะขาม มะนาว ส้ม มะม่วง กะทกรก(แพชชั่นฟรุต) มะยม มะดัน ตะลิงปลิง สับปะรด ใบชะมวง ใบมะขาม ใบมะม่วง
 
ประโยชน์ สารสำคัญในอาหารรสเปรียวคือวิตามินซีและไบโอฟลาโวนอยด์ ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ทำงานร่วมกับคอลลาเจนทำให้ผิวพรรณแข็งแรง เนียนใส แผลหายง่ายขึ้น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น ลดการเกิดการติดเชื้อของร่างกาย
 
ข้อควรระวัง หากกินอาหารที่มีรสชาติเปรี้ยวมากเกินไปอาจทำลายผิวเคลือบฟัน ทำให้เกิดฟันผุหรือเสียวฟันได้ วิตามินซีในอาหารรสเปรี้ยว ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ท้องเดินหรือส่งผลให้ปัสสาวะบ่อย มีผื่นคันที่ผิวหนัง
 
 
2. เผ็ด รสชาติเผ็ดร้อนมักอยู่ในกลุ่มของสมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น พริกชนิดต่าง ๆ กระเทียม หอมแดง ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระชาย ขมิ้นชัน รากผักชี ใบกะเพรา
 
ประโยชน์ อาหารที่ให้รสชาติเผ็ดร้อนส่วนใหญ่จะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดี ขับลม ขับปัสสาวะ ฆ่าเชื้อไวรัส ขับเหงื่อ และช่วยระบบเผาผลาญในร่างกาย สารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่ให้ความเผ็ดร้อนซึ่งอยู่ในพริก ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราและลดการอักเสบ การศึกษาหลายชิ้นพบว่า การกินพริกจะช่วยลดไขมันในเลือดและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น ลดการเกิดไข้หวัด ลดน้ำมูก ลดการก่อโรคภูมิแพ้ และบางการศึกษาพบถึงสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็ง
 
ข้อควรระวัง แม้ว่าสารแคปไซซินจะมีประโยชน์แต่ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ถ้าได้รับมากเกินไปอาจทำให้ปวดท้องโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบ หรือถ้าสัมผัสถูกผิวหนังจะทำให้เกิดผื่นร้อนได้
 
 
3. ฝาด อาหารที่มีรสชาติฝาด เช่น มะขามป้อม ลูกหว้า ละมุด ลูกพลับ เมล็ดองุ่น เปลือกผลไม้ กล้วยดิบ ดอกแค ใบกระถิน ใบชา
 
ประโยชน์ ความฝาดเกิดจากสารที่มีอยู่ในพืชคือ แทนนิน มีคุณสมบัติในการลดอาการท้องเดิน ปวดท้อง แผลติดเชื้อ ทำให้แผลหายง่ายและมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค บางงานวิจัยระบุว่าสารแทนนินมีความสามารถในการจับโลหะหนักให้ออกนอกร่างกาย
 
ข้อควรระวัง จากบางการศึกษาระบุว่าการได้รับแทนนินมากเกินไปอาจส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก
 
 
4. ขม อาหารที่มีรสชาติขม เช่น มะระ บอระเพ็ด สะเดา ใบยอ ขี้เหล็ก ชะอม มะเขือ ใบบัวบก งา ดาร์กช็อกโกแลต
 
ประโยชน์ พืชผักรสชาติขมช่วยขับลม ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด บำรุงหัวใจ ป้องกันไข้หวัด มีสารพฤกษเคมีหลายตัว สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินเค ใยอาหาร
 
ข้อควรระวัง ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันถึงผลเสียทางสุขภาพของการกินรสชาติขม แต่หากกินมากอาจทำให้ได้ใยอาหารสูงเกินไปจนถ่ายท้องได้
 
หลายครั้งที่โรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง หรือแม้แต่อาการทางสุขภาพที่เป็นกันได้บ่อย เช่น ไข้หวัด อาการภูมิแพ้ ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น มีสาเหตุมาจากความชอบในรสชาติอาหารหวาน มัน
 
การลองปรับเปลี่ยนรูปแบบรสชาติของอาหารเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีรสชาติ เปรี้ยว เผ็ด ฝาด ขม เป็น อีกหนึ่งวิธีทางธรรมชาติที่ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้

บทความอื่นๆ