โรคหัด อันตรายแค่ไหนป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัย

โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่มีอาการไข้สูงและผื่นแดง เกิดจากเชื้อไวรัส และพบได้บ่อยในเด็กเล็กแม้ว่าผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อได้ เชื้อนี้มีความสามารถในการแพร่กระจายทางการหายใจได้สูง ส่งผลให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่มีโอกาสติดเชื้อสูง โรคหัดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนและการแพร่กระจายสามารถควบคุมได้
 
 
 
 
โรคหัด คืออะไร
 
โรคหัด เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส ที่สามารถแพร่เชื้อ และโรคหัดติดต่อกันจากผู้ป่วยสู่คนอื่นๆ ได้ผ่านการไอ จาม เอาละอองจากน้ำลายและเสมกะออกมาปะปนอยู่ในอากาศ แล้วคนอื่นสูดอากาศนั้นเข้าไปในร่างกาย หรือเผลอสัมผัสเอาน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยโรคหัดโดยตรง (ผู้ป่วยอาจไอ จาม เอามือป้องปาก แล้วเอามือไปสัมผัสข้างของอื่นๆ แล้วคนอื่นมาจับข้าวของนั้นอีกที)
 
อาการของโรคหัด
 
อาการของโรคหัดนั้น หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสมาแล้วภายใน 14 วัน จะมีอาการของคนที่เป็นโรคหัดที่พบเห็นได้ดังนี้
 
  • อาการโรคหัดจะมีไข้ตัวร้อน อาจมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียสได้
  • น้ำมูกไหล
  • ไอบ่อย
  • เจ็บตา
  • ตาเยิ้มแดง
  • มีตุ่มแดงๆ ที่มีสีขาวเล็กๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม
  • มีผื่นขึ้นตามร่างกาย เป็นผื่นแดงออกน้ำตาลกระจายทั่วใบหน้า และลำคอ (ภายใน 3-5 วัน ผื่นจะค่อยๆ หายไปเอง)

 

กลุ่มเสี่ยงโรคหัด
 
เนื่องจากโรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นหากใครที่เป็นเด็กเล็ก คนชรา สตรีมีครรภ์ ผู้ที่ร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง ภูมิต้านทานโรคต่ำ รวมถึงผู้ที่ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคอื่นๆ ก็สามารถติดโรคหัดได้ทั้งนั้น ดังนั้นใครก็ตามที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคหัด ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดได้ทั้งนั้น แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดจะเป็นเด็กเล็กอายุแรกเกิดถึง 4 ปี
 
 
อันตรายของโรคหัด
 
โดยทั่วไปแล้วโรคหัดสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น โดยเฉพาะภาวะที่แทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี รวมถึงผู้ใหญ่ที่สุขภาพไม่แข็งแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ เช่น
 
  • ท้องเสีย อาเจียน จนอาจทำให้อยู่ในภาวะขาดน้ำ
  • หูชั้นกลางติดเชื้อ อักเสบ ทำให้รู้สึกปวดหู
  • ดวงตาติดเชื้อ ทำให้ตาเยิ้มแดง
  • กล่องเสียงอักเสบ
  • ปอดบวม ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆ
  • ไวรัสตับอักเสบ
  • ตาเหล่ ตาบอด หากไวรัสทำลายระบบประสาท และกล้ามเนื้อตา
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • หัวใจ และระบบประสาทถูกทำลาย
  • สมองทำงานผิดปกติ

 

วิธีรักษาโรคหัด
 
 
โรคหัดเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่มีตัวยาใดๆ รักษาโรคนี้ได้โดยตรง (เช่นเดียวกันกับโรคหวัด) แพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยลดอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยาลดไข้ (ที่ไม่ใช่แอสไพริน) ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ผู้ป่วยควรงดออกจากบ้านไปที่สาธารณะเมื่อมีอาการไข้ และผื่นขึ้นตามตัว รวมถึงไอ และจาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่น ดื่มน้ำ 6-8 แก้ว และทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายค่อยๆ ต่อสู้กับเชื้อไวรัสจนหายเป็นปกติได้
 
วิธีป้องกันโรคหัด
 
  • อยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยโรคหัด เพื่อป้องการการติดต่อ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหาร หรือหยิบจับอาหารเข้าปาก
  • ออกกำลังกายให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
 
ให้เด็กเล็กฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัด เข็มแรกตอนอายุ 9 เดือน เข็มที่ 2 ตอนอายุ 2 ขวบครึ่ง หากฉีดวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) เด็กสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ  9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี
 
เด็กโต หรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคหัด สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ 2 ครั้งเช่นกัน แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 28 วัน
 
หากเป็นผู้ป่วยโรคหัด ควรงดออกนอกบ้านจนกว่าอาการจะหายดี หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสผ่านการไอ และจาม
ปัญหาการฉีดวัคซีนโรคหัด
การรับวัคซีนโรคหัดมีข้อจำกัดในบางกลุ่ม เช่น
 
  • สตรีมีครรภ์
  • เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรค ลูคีเมีย และมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอมาก
  • เด็กที่มีประวัติแพ้เจลาติน หรือกลุ่มยาปฏิชีวนะนีโอมัยซินอย่างรุนแรง
  • อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นโรคหัด ก็สามารถฉีดแอนติบอดี้หรือสารโปรตีนที่มีชื่อว่าอิมมูนโกลบูลิน เพื่อป้องกันการป่วยได้ แต่ต้องฉีดสารดังกล่าวภายใน 6 วันหลังจากที่รับเชื้อไวรัส
 
นอกจากนี้จากคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรี และองค์กรระดับนานาชาติ ยืนยันตรงกันว่า การฉีดวัคซันป้องกันโรคหัด ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ดังนั้นผู้ปกครองควรพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัด เพื่อควบคุมการระบาดของโรคหัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

บทความอื่นๆ