9 ไม้มงคล ปลูกประจำทิศ ช่วยให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง

ไม้มงคล หมายถึง ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือน และเอาเคล็ดจากชื่อในการเรียกขานหรือมีผู้ทัก ให้เสียงที่เปล่งออกมาเป็นสิริมงคลแก่ตนผู้เป็นเจ้าของและครอบครัว ซึ่งไม้ที่มีผู้ถือว่าจะเป็น มงคลแก่บ้านเมือง เช่น ไม้ราชพฤกษ์ ไม้ขนุน ไม้มะขาม ไม้พะยูง ไม้กันเกรา ฯลฯ เป็นความเชื่อถือที่มาจากลัทธิพราหมณ์ นิยมใช้เป็นไม้ก้นหลุมของเสาเอกที่จะสร้างอาคารบ้านเรือน โดย ไม้มงคล 9 ชนิด ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์โดยใช้ไม้มงคล 9 ชนิด ปักกับพื้นดินไม้ทั้ง 9 ชนิด มีชื่อเป็นมงคลนาม ดังนี้
1. ไม้ราชพฤกษ์ (อาคเณย์) หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา
 
 
2. ไม้ขนุน (เหนือ) หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อ
 
3. ไม้ชัยพฤกษ์ (ตะวันออก) หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ
 
4. ไม้ทองหลาง (ศูนย์กลาง) หมายถึง การมีเงินมีทอง
 
 
5. ไม้ไผ่สีสุก (พายัพ) หมายถึง มีความสุข
 
6. ไม้ทรงบาดาล (อิสาน) หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้ บ้านมั่นคงแข็งแรง
 
7. ไม้สัก (ทักษิณ) หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ
 
 
8. ไม้พะยูง (หรดี) หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น
 
9. ไม้กันเกรา (ปัจฉิม) หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าตำเสา ซึ่งอาจหมายถึง ทำให้เสาเรือนมั่นคง
 
ชีวิตของชาวไทยนับแต่อดีตกาล เป็นชีวิตที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายพอมี พอกินตามอัตภาพ เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ คนไทยทั่วทุกภาคจึงนิยมปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัยของตนเอง บางชนิดเป็นพืชผัก เก็บมาทำอาหารภายในครอบครัว บางชนิดนำมาทำยา บางชนิดนำมาทำเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม หรือของใช้ต่าง ๆ ฯลฯ ประกอบกับคนไทยเป็นผู้มีนิสัยช่างรู้ช่างคิด และยังมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวอีกหลายประการ จึงทำให้เกิดการแสวงหาสิ่งที่มาเอื้อและอำนวยประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้ใกล้ชิด จากความเคยชินและประสบการณ์ที่สร้างสมกันมายาวนานทำให้เกิดความรู้หรือวิทยาการแขนงต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้ที่มีมาอย่างยาวนานเช่นนี้ ต้นไม้จึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนไทย เกิดเป็นความเชื่อ หรือพิธีกรรมที่มีต้นไม้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ที่เห็นได้เด่นชัดคือคนไทยมีคติความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมงคลของต้นไม้แต่ละชนิด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมิให้สูญหาย
มีพิธีกรรมหลายอย่างที่นิยมนำไม้มงคลเข้าไปเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ โดยเฉพาะพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงจัดพิธีบวงสรวงพลีกรรมตามลัทธิพราหมณ์ พร้อมกับพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามแบบศาสนาพุทธควบคู่ไปด้วย เพื่อให้พิธีดังกล่าวบังเกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลแก่สถานที่ ที่จะก่อสร้างยังประโยชน์ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เจ้าของอาคารสถานที่ ตลอดจนผู้อยู่อาศัยและนิยมนำไม้มงคล 9 ชนิด เข้าร่วมพิธีด้วย ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
 
 

บทความอื่นๆ