ทำความรู้จักโรคตาเป็นต้อทั้ง 4 ชนิด ต่างกันอย่างไรบ้าง

 
ดวงตา คืออวัยวะที่มีความสำคัญและอาจพบความผิดปกติได้หลายรูปแบบ เมื่อมีความผิดปกติจึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก หลายคนอาจเคยได้ยินหรือคุ้นหูมาบ้างกับโรคตาเป็นต้อ ไม่ว่าจะเป็นต้อลม ต้อหิน ต้อกระจก และต้อเนื้อ ซึ่งโรคตาเป็นต้อเหล่านี้มีสาเหตุการเกิดและความรุนแรงที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันและชะลอความเสื่อมของดวงตา เรามาทำความรู้จักโรคทั้ง 4 ชนิดนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อยืดอายุการใช้งานของดวงตาในอนาคต 
 
ชวนทำความรู้จักโรคตาเป็นต้อ ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน และต้อกระจก
โรคตาเป็นต้อ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสภาพร่างกายที่มีอายุมากขึ้น รวมถึงการใส่ใจดูแลดวงตาของแต่ละบุคคล ซึ่งโรคต้อในตามีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด
 
 
1. ต้อลม (Pinguecula)
สาเหตุของโรคต้อลม มาจากปัจจัยภายนอกที่กระทบกับดวงตาโดยตรง เช่น ดวงตาสัมผัสกับฝุ่น ควัน มลภาวะ ลมร้อน หรือรังสียูวีมากเกินไป 
 
อาการของโรคต้อลม มีการระคายเคืองบริเวณดวงตาและเยื่อบุตา รู้สึกแสบตาเมื่อโดนแสงแดด อาจตาแดง หรือมีน้ำตาไหลได้หากมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง มีการหนาตัวขึ้นของเยื่อบุตากลายเป็นก้อนหนาบนตาขาว ถ้าไม่ทำการรักษาจะมีอาการมากขึ้นจนอาจกลายเป็นต้อเนื้อที่ตาได้ 
 
วิธีรักษาโรคต้อลม ต้อลมไม่จำเป็นต้องรักษาหากอาการไม่รุนแรง แต่สามารถบรรเทาอาการและป้องกันได้ด้วยการใช้น้ำตาเทียมหยอดตาให้ชุ่มชื้น หลีกเลี่ยงฝุ่นควัน มลภาวะ สวมแว่นกันแดด งดการใช้งานสายตาหนักๆ เป็นต้น
 
 
2. ต้อเนื้อ (Pterygium)
สาเหตุของโรคต้อเนื้อ เป็นโรคที่พัฒนามาจากโรคต้อลม ผู้ป่วยมีอาการของโรคต้อลมอยู่ก่อนแล้วและไม่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้อาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควัน มลภาวะ และแสงแดด จึงทำให้ต้อลมนั้นหนาตัวขึ้นและลามเข้ามาบริเวณขอบตาดำ หากงอกยื่นเข้าไปในบริเวณตาดำแล้วจะไม่หายไปและค้างอยู่อย่างนั้น จนกลายเป็นต้อเนื้อในที่สุด  
 
อาการของโรคต้อเนื้อ อาการจะคล้ายกับโรคต้อลม โดยมีอาการระคายเคืองง่าย ตาโดนแสงไม่ได้ แสบตา และในผู้ป่วยที่มีอาการมาก ต้อเนื้ออาจจะส่งผลต่อการมองเห็น โดยจะไปบังการมองเห็นกระจกตาและทำให้สายตาเอียงได้ ซึ่งนอกจากนี้ยังทำให้เกิดตาแห้งร่วมได้อีกด้วย
 
วิธีรักษาโรคต้อเนื้อ วิธีการรักษาเบื้องต้นจะคล้ายกับโรคต้อลม ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตาอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการรุนแรงต้อเนื้อลุกลามเข้าไปในกระจกตามาก แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ
 
 
3. ต้อหิน (Glaucoma)
สาเหตุของโรคต้อหิน เกิดจากเส้นประสาทในดวงตาลดลง จนทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมสภาพ มักเกิดจากความดันในลูกตาสูง ทำให้เกิดการทำลายขั้วประสาทตา แต่ต้อหินที่ไม่มีความดันตาสูงก็พบได้เช่นกัน
 
อาการของโรคต้อหิน มักไม่มีอาการชัดเจนจนกระทั่ง ภาพการมองเห็นแคบลงและสูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ จนตาบอดอย่างถาวร ในบางกรณีหากเป็นชนิดเฉียบพลันก็อาจมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวนำมาก่อนได้
 
วิธีรักษาโรคต้อหิน มีการรักษาหลายวิธี เช่นการใช้ยา เลเซอร์ หรือการผ่าตัด โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมร่วมกับผู้ป่วย ซึ่งส่วนที่เสียหายเดิมจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรกจะสามารถช่วยลดโอกาสสูญเสียการมองเห็นได้ 
 
 
4. ต้อกระจก (Cataract)
สาเหตุของโรคต้อกระจก เกิดจากเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพลงตามอายุการใช้งาน เนื่องจากองค์ประกอบในเลนส์แก้วตาเปลี่ยนไปจนทำให้เลนส์ตาขุ่น พบมากในผู้สูงอายุ 
 
อาการของโรคต้อกระจก เนื่องจากเลนต์ตาขุ่นทำให้บดบังการมองเห็น จึงเกิดอาการตาพร่า มองภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อนกัน มองเห็นแย่ลงในที่มืดหรือที่สว่างมากๆ คุณภาพการมองแย่ลง
 
วิธีการรักษาโรคต้อกระจก หากการมองเห็นลดลงอย่างต่อเนื่อง จะใช้การรักษาที่เน้นการผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็ก นำเลนส์ตาที่ขุ่นออกแล้วเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) มาสลายต้อกระจกผ่านแผลเล็กๆ ดังกล่าว การผ่าตัดต้อกระจกมีหลากหลายวิธีและมีรายละเอียดที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์เทียมโดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้ให้รายละเอียดแก่ผู้ป่วย เพื่อให้มีส่วนร่วมในการวางแผนการรักษา
 
 
 
จะเห็นได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับโรคตาเป็นต้อชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายที่ร่วงโรยไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ระมัดระวังการใช้งานดวงตา ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพดวงตาประจำปี หรือเข้ารับการคัดกรองโรคตาชนิดต่างๆ เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด

บทความอื่นๆ